ภาคเหนือของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่ม เช่น กะเหรี่ยง มูเซอ ม้ง ลัวะ หรืออาข่า โดยกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ต่างมีวัฒนธรรมของตัวเอง ซึ่งหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมที่น่าสนใจและถูกศึกษามาอย่างยาวนาน คือ กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ทั้งการดำเนินชีวิต การปฏิสัมพันธ์กับสังคม และการรักษาความเชื่อดั้งเดิม โดยเฉพาะความเชื่อดั้งเดิมที่เกี่ยวกับการแต่งงานของผู้หญิงม้ง

เมื่อแต่งออกไปแล้วก็กลายเป็นของคนอื่นเมื่อจะกลับถิ่นตัวเองก็ถูกผลักไสประโยคนี้สะท้อนชีวิตผู้หญิงม้งที่ได้แต่งออกเรือนไปแล้วต้องตัดขาดกับครอบครัวตนเองเพื่อเข้าไปเป็นสมาชิกของครอบครัวสามี ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้พวกเธอต้องแยกกับสามี พวกเธอก็อยู่ในสถานะไร้สถานะทางสังคม เพราะถูกตัดขาดจากทั้งสองครอบครัว ผู้หญิงม้งที่เป็นหม้ายจะถูกมองเป็นของสาธารณะ มักถูกลวนลามจากใครต่อใคร และเมื่อเสียชีวิตไปก็ไม่สามารถไปสู่ภพภูมิที่ดีได้ เพราะขาดคนทำพิธีส่งวิญญาณ[1]

จารีตประเพณีของชาติพันธุ์ม้งจะให้คุณค่ากับผู้ชายในฐานะผู้สืบตระกูลและมองผู้หญิงในฐานะผู้ผลิตลูกและผู้ดูแลครอบครัวส่งผลให้ผู้หญิงม้งถูกจำกัดอำนาจหรืออิสระในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้านการปกครองในครอบครัวม้ง พ่อแม่จะมีอำนาจเหนือลูก สามีมีอำนาจเหนือภรรยา และผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคน นอกจากนี้ ถ้าผู้หญิงม้งไม่มีลูกชายจะเป็นเหมือนคนบาปและต้องตั้งครรภ์จนกว่าจะมีลูกชาย สำหรับลูกสาวม้งที่ถูกมองเป็นสมบัติของครอบครัว จะถูกสอนตั้งแต่เด็กว่า ลูกสาวต้องช่วยงานของแม่ ลูกสาวต้องดูแลพ่อแม่[2]

ผู้หญิงม้งจะถูกให้แต่งงานเมื่ออายุ 14 – 18 ปี หากอายุเกินกว่านั้นแล้วยังไม่แต่งงาน จะถูกมองเป็นผู้หญิงแปลก และเมื่อเธอแต่งงานออกเรือนไปแล้ว จะถูกนับว่าเป็นคนนอกครอบครัวตัวเองที่อยู่มาตั้งแต่เกิด และเธอจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวสามีไปโดยปริยายเมื่อถึงวันแต่งงาน พ่อแม่ฝ่ายชายจะทำพิธีรับขวัญลูกสะใภ้เข้าตระกูลต่อผีบรรพชน พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็จะทำพิธีตัดผีแจ้งบรรพบุรุษเพื่อย้ายลูกสาวออกจากตระกูลเช่นกัน

ผู้หญิงม้งเมื่อแต่งเข้าครอบครัวสามีแล้วนั้น จะถูกให้ย้ายไปบ้านสามี มีหน้าที่ในการดูแลบ้านเรือน ดูแลบุตรทำงานในภาคการเกษตรและช่วยเหลือในพิธีกรรมทางวัฒนธรรมและศาสนา ความเชื่อของชนเผ่าม้งทำให้ผู้หญิงม้งบางคนมองว่า การศึกษาเหมาะกับผู้ชายมากกว่า ส่งผลให้สถิติการเข้าศึกษาของเด็กหญิงม้งต่ำกว่าเด็กชายถึงร้อยละ 80 เพราะผู้หญิงต้องออกเรือนแต่งเข้าบ้านสามีอยู่ดี โดยการตัดสินใจในครอบครัวจะขึ้นกับสามีเป็นหลัก ทำให้ผู้หญิงม้งไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา

ผู้หญิงม้งที่ออกเรือนไปแล้วจะไม่สามารถกลับมาอยู่ครอบครัวเดิมได้ไม่ว่าสามีจะเสียชีวิตหรือหย่าร้างกัน และไม่ว่าด้วยเหตุการณ์ใดก็ตาม[3]เพราะจะเป็นการผิดผีอย่างร้ายแรงทำให้ผู้หญิงม้งหลายคนที่เป็นหม้าย หรือที่เรียกว่า แม่ร้าง จะถูกผลักไสออกทั้งจากบ้านสามีและบ้านตนเอง กลายเป็นคนไร้สายตระกูลและถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นคนไม่มีความอดทนและเป็นผู้หญิงที่ไม่ดีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ ไม่ว่าด้วยเหตุผลไหน ชีวิตของแม่ร้างจะถูกมองเป็นของสาธารณะ คือ ผู้ชายอื่นสามารถเข้าหาได้โดยเธอจะไม่มีสิทธิต่อรอง

ทางออกสำหรับผู้หญิงที่ต้องการกลับคืนสู่ครอบครัวตัวเองค่อนข้างริบหรี่แต่มีกลุ่มผู้หญิงม้งกลุ่มนึงได้ค้นหาวิธีที่จะช่วยผู้หญิงม้งที่ไร้สถานะทางสังคม ทางออกหนึ่งที่เกือบหายไปจากความทรงจำของชาติพันธุ์ม้ง คือ พิธีผู่ เป็นพิธีที่จะรับลูกสาวม้งกลับเข้าบ้าน โดยพิธีจะเป็นการทำสลับกับพิธีแต่งงานที่ผู้หญิงจะย้ายไปอยู่บ้านผู้ชายคือนำไก่ตัวผู้วนรอบหัวลูกสาวและบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านให้รับรู้ว่าวันนี้ลูกสาวเลิกกับสามีแล้วจะกลับมาอยู่บ้านของเราเหมือนเดิมและพ่อแม่ก็จูงลูกสาวเข้าบ้านเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีผู่[4] โดยเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดตั้งโครงการรับลูกสาวเข้าบ้าน เป็นโครงการช่วยเหลือผู้หญิงม้งที่ประสบปัญหาจนไม่สามารถอยู่กับครอบครัวสามีได้ และกลับคืนสู่ครอบครัวเดิมของตนเอง รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนให้มองเห็นว่าความเชื่อเดิม ๆ จำเป็นต้องเปลี่ยน เพื่อให้มองเห็นชีวิตและความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงม้ง[5]

ผู้หญิงม้งพบเจอกับความเจ็บปวดจากจารีตประเพณีมาอย่างมากมายทั้งในฐานะลูกสาวของพ่อแม่ฐานะภรรยาของสามีไปจนถึงฐานะแม่ของครอบครัว บทบาทที่พวกเธอแบกรับไว้ทั้งชีวิตสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศในหลายมิติ ผู้หญิงม้งต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมตั้งแต่ตอนเป็นเด็กสาวจนถึงนางสาว โดยหนึ่งในทางออกของผู้หญิงม้ง คือ เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย ที่ผู้หญิงม้งในไทยได้รวมตัวกันเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นที่ผู้หญิงม้งพบเจอ ส่วนหนึ่งคือเพื่อช่วยหลือผู้หญิงม้งที่แต่งงานออกไปแล้วต้องการที่จะกลับครอบครัวตนเองอีกครั้ง จึงมีโครงการรับลูกสาวเข้าบ้านที่เชื่อมโยงกับพิธีผู่ พิธีกรรมที่จะช่วยให้ผู้หญิงได้กลับเข้าสู่อ้อมอกของครอบครัวอีกครั้ง โดยถูกต้องตามหลักจารีตประเพณีของชาติพันธุ์ม้ง

        ชีวิตเป็นสิ่งที่เราสามารถกำหนดเองได้ แต่ผู้หญิงม้งที่ถูกค่านิยมเดิมที่สืบทอดมาตลอดตั้งกรอบไว้ ทั้งการเป็นลูกสาวของพ่อแม่ ภรรยาของสามี และแม่ของครอบครัว พวกเธอเติบโตขึ้นภายใต้ความคาดหวังที่สังคมกำหนดไว้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายสตรีม้งจึงเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้หญิงม้งได้ก้าวข้ามกรอบค่านิยมเดิมที่กดทับพวกเธอ รวมไปถึงทางออกสำหรับครอบครัวของพวกเธอที่ได้รับความเจ็บปวดไม่ต่างกันด้วย แต่ยังมีผู้หญิงม้งหรือครอบครัวพวกเธอจำนวนมากที่ยังคงถูกกรอบค่านิยมเดิมกดทับไว้อยู่ นอกจากนี้ ประเด็นการพัฒนาความเท่าเทียมระหว่างเพศในกลุ่มชาติพันธุ์ม้งยังคงเป็นประเด็นสำคัญและสิ่งท้าทายที่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการศึกษาและการสร้างความตระหนักรู้ในชุมชนม้งเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ ดังนั้น ชีวิตผู้หญิงม้ง ชีวิตเรา หรือชีวิตใคร?” จึงยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด หากสังคมยังคงยึดกรอบค่านิยมเดิม ชีวิตของผู้หญิงม้งก็ยังจะถูกกำหนดโดยผู้อื่น แต่หากสังคมช่วยผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศ ชีวิตของผู้หญิงม้งก็จะสามารถกำหนดเส้นทางชีวิตของพวกเธอเองได้

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา

[1] อดิศร ภู่สาระ.  (2565).  พลังอำนาจแฝงของสตรีม้ง : กลุ่มอาชีพนอกภาคการเกษตรสืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2567

[2] พรรณพิมล สุขวงษ์.  (2560).  ชีวิตของคนอื่น : ประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงม้งที่มีภาวะซึมเศร้าสืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2567.

[3] นพพล ไม้พลวง.  (2566).  ลำน้ำสาว: ตำนาน และเรื่องราวสาวชาวม้ง ตอนที่ 1”สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://imnvoices.com/?p=3983 / https://imnvoices.com/?p=5395

[4]สุชาดาลิมป์.(2562).“SpecialSceneพิธีผู่โอบกอดผู้หญิงม้งเมื่อชีวิตคู่ล้มเหลว.สืบค้นเมื่อ12ธันวาคม2567,ค้นจาก https://www.sarakadee.com/2019/09/03/%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%87/

[5] BBC NEWS ไทย.  (2560).  รับลูกสาวกลับบ้าน: ขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศในชุมชนม้งด้วยพิธีกรรมสืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-42148052