
นับเป็นก้าวสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชีย ที่มีการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม การเกิดขึ้นของสมรสเท่าเทียมไม่เพียงแต่จะอำนวยความประโยชน์ต่อคู่รักเพศเดียวกันทั้งในด้านภาษี กฎหมายประกันสังคม และมรดก แต่รวมถึงการเป็นหลักประกันในการสร้างครอบครัวอีกด้วย
สาระสำคัญของสมรสเท่าเทียม คือ เพื่อให้บุคคล 2 คนไม่ว่าเพศใด สามารถทำการหมั้นและสมรสได้โดยแก้ไขจากกฎหมายสมรสที่ใช้คำว่า “ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง” แก้ไขเป็น “บุคคลทั้ง 2 ฝ่าย” และสถานะหลังการจดทะเบียนสมรส จาก “สามีภริยา” แก้เป็น “คู่สมรส” รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมในบทบัญญัติอื่น ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่ สถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง[1]
โดยการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมสามารถจดได้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2568 เส้นทางของสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันของทุกฝ่าย นับเป็นก้าวสำคัญของการเกิดความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย จึงจะขอสรุปจุดเริ่มต้นของสมรสเท่าเทียม จนถึงวันประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้
(1) ปี 2544 รัฐบาลในสมัยนายกทักษิณ ชินวัตร เริ่มเสนอแนวคิดให้คนรักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย แต่ก็เกิดกระแสสังคมต่อต้านและไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เรื่องนี้จึงถูกปัดตกไป
(2) ปี 2555 มีคู่รักเพศหลากหลายต้องการจดทะเบียนสมรส แต่ถูกปฏิเสธ จึงมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
(3) ปี 2556 รัฐบาลในสมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความพยายามให้มีกฎหมายรับรองคู่รักเพศเดียวกันอีกครั้งตามข้อเสนอของประชาชนมีการยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเพื่อให้ผ่านการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่สำเร็จ ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่า ไม่ได้มีการครอบคลุมสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเท่ากับคู่รักชาย-หญิง
(4) ปี 2557 เกิดรัฐประหาร การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นี้ จึงยุติลง
(5) ปี 2563 – 2566 รัฐบาลในสมัยของนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนและพรรคการเมือง ขณะเดียวกันกระแส ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่อง ‘สมรสเท่าเทียม’ และสังคมไทยในปัจจุบันมีการพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอย่างกว้างขวาง
(6) พรรคก้าวไกล โดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ เสนอ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่อสภาฯ และได้รับการถูกบรรจุวาระแรกในปี 2565 ซึ่งรัฐบาลเองก็จัดทำกฎหมายอีกฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต หน่วยงานเจ้าภาพคือกระทรวงยุติธรรม ที่มี สมศักดิ์ เทพสุทิน สังกัดพรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แม้ว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะผ่านวาระแรกไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ถูกค้างในสภาฯ ไม่สามารถพิจารณาได้ครบ 3 วาระ เนื่องจากปัญหาสภาล่มบ่อยและถูกวาระแทรกวาระ
(7) หลังมีรัฐบาลใหม่ วันที่ 21 ธันวาคม 2566 ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมถูกหยิบยกเข้าสภาฯ อีกครั้ง โดยครั้งนี้สภาฯ รับร่างไว้ 4 ร่าง โดยสภาฯ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณาศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายทั้งหมด ทั้งนี้ มีการพิจารณาแค่ 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับของพรรคก้าวไกล ภาคประชาชน และรัฐบาล[1]
- ร่าง พ.ร.บ. ฉบับ คณะรัฐมนตรี (ครม.)
- ร่าง พ.ร.บ. ฉบับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกล
- ร่าง พ.ร.บ. ฉบับ อรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 11,611 คน
- ร่าง พ.ร.บ. ฉบับ สรรเพชญ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์
โดยสามารถเปรียบเทียบร่างของทั้ง 4 พ.ร.บ. ในประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้
(1) ผู้รักษาการตามร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม: พรรคก้าวไกล : รัฐมนตรีมหาดไทย / ภาคประชาชน : รัฐมนตรีมหาดไทย/ รัฐบาล : นายกรัฐมนตรี / และพรรคประชาธิปัตย์ : รัฐมนตรีมหาดไทย
(2) อายุขั้นต่ำในการจดทะเบียน: พรรคก้าวไกล : 18 ปี / ภาคประชาชน : 18 ปี / รัฐบาล : 17 ปี / และพรรคประชาธิปัตย์ : 17 ปี
(3) สถานะหลังจดทะเบียนสมรส: พรรคก้าวไกล : คู่สมรส / ภาคประชาชน : คู่สมรส / รัฐบาล : คู่สมรส / และพรรคประชาธิปัตย์ : คู่สมรส
(4) จัดการทรัพย์สินร่วมกัน, รับบุตรบุญธรรมร่วมกัน, รับมรดกจากคู่สมรส, และการตัดสินใจทางการแพทย์: พรรคก้าวไกล : ทำได้ / ภาคประชาชน : ทำได้ / รัฐบาล : ทำได้ / และพรรคประชาธิปัตย์ : ทำได้
(5) ใช้นามสกุลคู่สมรส: ร่างของพรรคก้าวไกล ภาคประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ อนุญาตให้ใช้นามสกุลของคู่สมรสได้ แต่ของรัฐบาล ไม่ได้ระบุ
(8) วันที่ 27 มีนาคม 2567 มีการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 สภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ กมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมสภา มีมติ เห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง
(9) 18 มิถุนายน 2567 การลงมติของ สว. โดยที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนนเห็นด้วย 130 ไม่เห็นด้วย 4 และงดออกเสียง 18 เสียง โดยจะมีประกาศบังคับใช้ภายใน 120 วันหลังจากนี้ และนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นำร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้ต่อไปเมื่อเห็นว่าไม่มีประเด็นที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
(10) สมรสเท่าเทียมจะมีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2568 เป็นต้นไป[1] [2]
โดยในวันที่ 23 มกราคม 2568 จะมีบริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมทั่วประเทศ โดยสำนักทะเบียน 878 อำเภอ และ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร[3] และยังมีการจัดงานสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality Day) ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน จัดโดย นฤมิตไพร์ด ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ รวมถึงภาคีเครือข่ายที่มีส่วนช่วยผลักดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม[4] ข้อมูลจากบางกอกไพรด์พบว่าการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมวันแรก มีคู่รักจากทั่วประเทศรวมกว่า 2,799 คู่ มียอดรวมของคู่รักเพศเดียวกันรวม 1,839 คู่ และมีข้อมูลรายงานว่าคู่รักเพศเดียวกันที่มาจดทะเบียนมากที่สุดเป็นคู่รักหญิง-หญิง[5] นับเป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทย ซึ่งยังมีกฎหมายอื่นที่ยังคงต้องจับตามองต่อไป
[1] รัฐบาลไทย. (2567). “ประกาศแล้ว กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลบังคับใช้ 22ม.ค. 68”. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2568, ค้นจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/88411 [2] SPRING. (2566). “เปิด พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 4 ฉบับ แตกต่างกันอย่างไรบ้างก่อนเข้าสภา 21 ธ.ค. 66”. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2568, ค้นจาก https://www.springnews.co.th/news/infographic/846256 [3]KTC. (2568). “สมรสเท่าเทียมคืออะไร ?สิทธิของชาว LGBTQIA+ อัปเดตปี 2568”. สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2568, ค้นจาก https://www.ktc.co.th/article/lifestyle/family-parenting/marriage-equality [4]กองบรรณาธิการ. (2567). “ย้อนรอยเส้นทาง23 ปี กว่าจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อให้ ‘ทุกเพศ’ เท่ากัน”. สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม 2568,ค้นจาก https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/104527 [5] ฐานเศรษฐกิจ. (2568). “ผ่า “กฎหมายสมรสเท่าเทียม”ประตูสู่ชีวิตคู่ LGBTQ+ ชาติแรกในอาเซียน”. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2568, ค้นจาก https://www.thansettakij.com/economy/617095#google_vignette [6] POSTTODAY. (2568). “ตั้งตารอ ‘สปีชประวัติศาสตร์อาเซียน’ ของนายกฯ อิ๊งค์ ในงาน ‘สมรสเท่าเทียม’”. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2568, ค้นจาก https://www.posttoday.com/smart-life/718237 [7] Sanook. (2568). “สมรสเท่าเทียมวันแรก เปิดสถิติจดทะเบียนทั่วประเทศ 2,799คู่ คู่รักหญิง–หญิงมากสุด”. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2568, ค้นจาก https://www.sanook.com/news/9704390