
ทำไมถึงมีแต่ผีผู้หญิง?
หญิงเป็นใหญ่หรือ มาตาธิปไตย (Matriarchy) คือระบบผู้หญิงเป็นใหญ่ในด้านวัฒนธรรม พิธีกรรม และการปกครอง ซึ่งได้มาเป็นระบบความเชื่อของสังคมอุษาคเนย์เมื่อสมัยอดีตสามารถเห็นได้ จากการกำหนดให้เหล่าวิญญาณที่คอยปกปักรักษาบ้านเมืองเป็นเพศหญิง เช่นแม่โพสพ แม่ตานี หรือแม่ย่านาง แต่หลังจากที่สังคมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านการปกครองและการเข้ามาของศาสนา ทำให้ระบบความเชื่อเดิมที่เชื่อว่าหญิงเป็นใหญ่ในทุกด้านถูกลดความสำคัญลง หลังจากสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ชายถูกผลักให้เข้ารับการศึกษามากขึ้นแต่ผู้หญิงกลับต้องอยู่บ้านเพื่อเป็นแม่ศรีเรือน ไม่ได้เข้ารับการศึกษาเหมือนผู้ชายกลายเป็นช่องว่างที่ระบบชายเป็นใหญ่ได้ถูกถ่ายทอดและมาเปลี่ยนแปลงระบบความเชื่อเดิมโดยผ่านระบบศักดินาและวรรณกรรมที่ผู้ชายได้เป็นฝ่ายกำหนด ขึ้นมาวรรณกรรมไทยจึงกลายเป็นเครื่องมือในการอบรมสั่งสอนให้ผู้หญิงมีคุณสมบัติเป็นภรรยามารดา และลูกสาวที่ดี ดังนั้น ความต้องการที่จะตั้งให้ผู้หญิงอยู่ในกรอบจึงแสดงออกมาในรูปแบบผีผู้หญิง[1]
สังคมอุษาคเนย์มีความผูกพันกับเรื่องราวภูติผีปีศาจเทพยดามาอย่างยาวนานแต่เมื่อเรื่องเล่าได้ถูกแต่งผ่านแนวคิดชายเป็นใหญ่และศาสนาก็ทำให้การเล่าเรื่องของผีถูกแต่งเติมไปในเชิงสั่งสอนผู้คนให้กระทำตัวให้ดีไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นผีน่ากลัวและดุร้ายภาพลักษณ์ของผีผู้หญิงที่ถูกแต่งขึ้นมาจึงมีหน้าที่สั่งสอนผู้หญิงที่อยู่ในโลกของคนเป็นภาพลักษณ์ของผีผู้หญิงจึงออกมามีอารมณ์ที่หลากหลายแบบทั้งอารมณ์รักและอารมณ์โกรธผสมกันไปตามความเชื่อที่ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ใช้อารมณ์นำเหตุผลซึ่งทั่วโลกมักจะนำเสนอภาพลักษณ์ของผีผู้หญิงในลักษณะแบบนี้โดยนำเสนอภาพลักษณ์ของผีผู้หญิงในลักษณะ ที่ก้าวร้าวโกรธแค้นผู้คน และมักพบกับจุดจบที่มีผู้ชายออกมากำราบ อย่างไรก็ตาม นอกจากการนำเสนอภาพลักษณ์ของความน่ากลัวแล้วนั้นผู้เขียนหรือผู้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ได้แอบแฝงเบื้องหลังของ ความไม่ยุติธรรมและความโศกเศร้าของการเกิดเป็นผู้หญิงอีกด้วย
แม่นาก
เป็นเรื่องราวของผีตายทั้งกลมแห่งย่านพระโขนง ในตอนแรกแม่นากยังมีแต่ภาพลักษณ์ของผีที่น่ากลัวแต่ภายหลังได้มีการดัดแปลงให้มีภาพลักษณ์ของความรักและความโศกเศร้าเพิ่มถึงแม้ว่าแม่นาก จะเสียชีวิตไปแล้วแต่เธอยังคอยทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้สามี ทั้งปรนนิบัติสามีอย่างดีและไม่คบชู้เมื่อสามีไปเป็นทหารสะท้อนผู้หญิงในแบบที่แนวคิดชายเป็นใหญ่อยากให้เป็น[2]
บุปผาราตรี
ภาพยนตร์ที่เข้าฉายวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 เล่าเรื่องหญิงสาวที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมาตั้งแต่เด็กและเมื่อโตขึ้นก็ถูกหลอกให้รักเพื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์สุดท้ายเธอท้องและได้ตัดสินใจทำแท้ง แต่การทำแท้งนี้เองทำให้เธอตกเลือดและเสียชีวิตในที่สุดณ หอพักห้อง 609 บุปผาราตรีสะท้อนถึงการไม่มีสิทธิ์และเสียงของการเกิดเป็นผู้หญิงมีเพียงโลกหลังความตายเท่านั้นที่เธอจะได้รับอำนาจ เพื่อแก้แค้นต่อรอง[3]
Pontianak
(ปอนเตียนัค) ผีตายทั้งกลมในความเชื่อของสังคมอินโดนีเซียมาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นผู้หญิงที่เสียชีวิตในขณะคลอดลูกแล้วกลายเป็นผีที่มีความเฮี้ยนรุนแรงด้วยความแค้นรุนแรงที่ตนเองเสียชีวิต พร้อมลูกทำให้ปอนเตียนัคมักทำร้ายผู้หญิงตั้งครรภ์แต่ในบางเรื่องเล่าได้กล่าวว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ถูกรุมข่มขืนและถูกสังหารโดยคนเหล่านั้นที่ข่มขืนเธอทำให้เธอมีความแค้นและกลับมาแก้แค้นคนที่ ทำร้ายเธอ โดยเธอจะมีตะปูอยู่หลังคอหากตะปูถูกดึงออก เธอจะกลายเป็นผีที่ดุร้าย ออกอาละวาด และควบคุมไม่ได้ ตะปูจึงเป็นเครื่องมือในการควบคุมและกดให้อยู่ในคำสั่งและในตอนสุดท้าย จะมีหมอผีผู้ชายทำการปราบปอนเตียนัคให้อยู่ใต้อาณัติ โดยการตอกตะปูเข้าที่หลังคอเธออีกครั้งสะท้อนให้เห็นว่า สังคมจะเป็นปกติสุขหากผู้หญิงอยู่ในกรอบและเชื่อฟังคำสั่งของผู้ชายและ ควรปฏิบัติตนเป็นลูกสาว ภรรยา และมารดาที่ดี[4]
Manananggal
(มานานังกัล) ผีผู้หญิงที่มีปีกคล้ายค้างคาวเป็นความเชื่อของสังคมฟิลิปปินส์เธอสามารถแยกลำตัวส่วนบนและส่วนล่างได้ เธอจะดูดเลือดทารกในครรภ์ รวมไปถึงเด็กเล็กและผู้ใหญ่ในตอนกลางวันเธอ จะใช้ชีวิตเหมือนผู้คนทั่วไปที่มีท่าทีสงบเสงี่ยมและไม่ค่อยสุงสิงกับใครแต่ในเวลากลางคืนจะมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป เธอสามารถสวมรอยเหยื่อที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยร่างโคลนสามารถสะท้อนถึงการซ่อนความชั่วร้าย ของผู้หญิงไว้เบื้องหลังดังเช่นที่มานานังกัลซ่อนตัวตนที่ดุร้ายของเธอในตอนกลางวันและปลดปล่อยมันออกมาในตอนกลางคืน[5]
It’s Easier to Raise Cattle
เป็นภาพยนตร์ของผู้กำกับหญิงชาวมาเลเซีย Amanda Nell Eu เธอได้นำเสนอเรื่องเล่าของปอนเตียนัค (Pontianak) หรือผีตายทั้งกลมของสังคมมาเลเซียในรูปแบบใหม่ภาพยนตร์นี้เกี่ยวกับเด็กสาว สองคนในหมู่บ้านชนบททั้งสองคนต่างรู้สึกแปลกแยกจากสังคมโดยสิ้นเชิงเด็กสาวคนหนึ่งโดนกล่าวหาว่าเป็นปอนเตียนัค ทำให้เธอถูกจับเข้าพิธีกรรมเพื่อไล่ผีร้ายในตัวเธอโดยปอนเตียนัคในเรื่องถูกใช้ เพื่อบอกถึงการไม่เป็นผู้หญิงตามแบบที่สังคมกำหนดซึ่งหมายถึงว่าเมื่อเป็นผู้หญิงแล้วต้องเรียบร้อยและเชื่อฟัง สุดท้ายแล้วเด็กสาวที่โดนกล่าวหาว่าเป็นปอนเตียนัคก็เลือกที่จะอยู่ในกรอบนั้นเหมือนเดิม แตกต่างต่างจากเด็กสาวอีกคนที่ทนไม่ไหวกับกรอบของสังคมจึงเลือกที่จะเดินออกมาจากกรอบนั้นโดยลำพัง[6]
จากตัวอย่างผีผู้หญิงที่ได้ถูกสร้างหรือเล่าขานกันมา มีข้อสังเกตว่าเรื่องเล่าผีในปัจจุบันถูกระบบทุนนิยมครอบงำด้วยเช่นกัน การเล่าเรื่องผีโดยมีผีผู้หญิงเป็นตัวหลักมักจะทำให้ผู้ชมมีความสนใจมากกว่า
เพราะภาพจำส่วนใหญ่ของผีที่ผู้คนนึกถึงมักจะแสดงออกมาเป็นผู้หญิงผมดำยาวและสวมชุดกระโปรงขาว[1] อย่างไรก็ตามผู้หญิงยังมีความเกี่ยวโยงกับโลกวิญญาณมากกว่าผู้ชาย เช่นการเป็นร่างทรง ภาพของผู้หญิงกับโลกวิญญาณจึงมักเกี่ยวพันกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในเรื่องเล่าผ่านมุมมองชายเป็นใหญ่มักเล่าให้ผู้หญิงเป็นเพศที่ใช้อารมณ์นำเหตุผลผีผู้หญิงจึงมักมีอารมณ์อาฆาตแค้นส่งผลให้เรื่องราวมีความสนุกและระทึกใจ[2] สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดชายเป็นใหญ่ได้ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวละครหรือเรื่องเล่านอกจากนี้ เราสามารถสังเกตได้ว่านอกจากเรื่องเล่าที่ถูกเล่าผ่านผู้ชายเป็นส่วนมากแล้วนั้นภาพยนตร์ก็มักถูกกำกับโดยผู้ชายเช่นกันโดยถึงแม้จะเริ่มมีภาพยนตร์สยองขวัญที่กำกับโดยผู้หญิงแต่ก็ยังมีน้อยมากในสังคมอุษาคเนย์ทำให้ผู้กำกับหญิงต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักมากกว่าผู้ชาย[7] ถือว่าเป็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในวงการอาชีพ
สุดท้ายแล้วนั้น ความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นทั้งในโลกของคนเป็นและโลกของคนตายการเป็นผู้หญิงก็มักเป็นฝ่ายถูกกระทำทั้งจากผู้ชายและสังคม ถึงแม้ในเรื่องเล่า เมื่อผู้หญิงได้มาอยู่ในโลกคนตาย ก็สามารถมีอำนาจแก้แค้นได้แต่สุดท้ายมักจะถูกปราบโดยผู้ชายหรือสังคมสะท้อนถึงการตอกย้ำค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่ต้องการให้ผู้หญิงอยู่ในกรอบที่ผู้ชายสร้างขึ้นมาเช่น การเป็นแม่ศรีเรือน เชื่อฟังสามี หรือเรียบร้อยสำหรับผู้หญิงที่ไม่ยอมรับกรอบนี้ก็มักจะต้องโดดเดี่ยวและแปลกแยกจากสังคมไปโดยปริยาย
ดังนั้น การผลิตซ้ำค่านิยมเหล่านี้ผ่านเรื่องเล่าจะก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศโดยที่เราไม่รู้ตัวและจะกีดกันผู้หญิงออกจากสังคมมากขึ้น
[1]กฤตพล สุธีภัทรกุล. (2566). “‘เรื่องผี’ที่มีแต่ ‘ผู้หญิง’ ความบันเทิงใน‘สังคมชายเป็นใหญ่’”. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/entertainment/1096238
[2]Wu Shenyang และ Li Bingbing. (2561). “ความคิดแบบปิตาธิปไตยกับการพัฒนาภาพลักษณ์ของผีในวรรณกรรมไทย: กรณีศึกษาเรื่องแม่นาก”. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2567.
[3]ณัฐนันท์ เฉลิมพนัส. (2561). “บุปผาราตรีความสยองขวัญที่เป็นตัวแทนของหญิงสาวไร้ทางสู้”. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://thestandard.co/rahtree-flower-of-the-night/
[4]อรอนงค์ ทิพย์พิมล. (2565). “Pontianak ผีตายทั้งกลม ความเชื่อร่วมของคนอุษาคเนย์”. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://www.the101.world/pontianak/
[5] Stephanie Lai. “Sympathy for Lady Vengeance: FeministGhosts and Monstrous Women of Asia”. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2567.
[6]Clotilde Couturier. (2561). “Tea time with Lagi Senang Jaga SekandangLembu [It’s Easier to Raise Cattle]”. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://clermont-filmfest.org/en/tea-time-with-lagi-senang-jaga-sekandang-lembu-its-easier-to-raise-cattle/ [7] VeenuSandal. (2560). “Female ghosts & their male counterparts”. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://sundayguardianlive.com/opinion/10694-female-ghosts-their-male-counterparts [8] Veenu Sandal. (2560). “Female ghosts & their male counterparts”. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://sundayguardianlive.com/opinion/10694-female-ghosts-their-male-counterparts [9] บันเทิงไทย. (2561). “ผู้หญิงแล้วไง? ชนชั้นในกองถ่ายหนัง–เรื่องจริงเคยเจอ”. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://www.matichon.co.th/entertainment/news_1150452