นับตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women : CEDAW) และผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2528 ประเทศไทย ใช้อนุสัญญาฯ ดังกล่าว เป็นแนวทางขับเคลื่อนนโยบายและแผนเกี่ยวกับสตรี รวมทั้งดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบปฏิบัติ ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อมิให้มีการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยมีการขับเคลื่อนภารกิจด้านสตรีและการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรองรับให้สิทธิและความคุ้มครองทางกฎหมายแก่บุคคลอย่างเท่าเทียมกัน โดยห้ามมิให้เลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม แต่ไม่มีมาตรการป้องกันการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศที่ชัดเจนส่งผลให้บุคคลที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวในขณะนั้น ชื่อสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวในฐานะหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงานด้านการพัฒนาสตรี การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. … ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพระราชบัญญัติ ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. … และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และนำเสนอตามขั้นตอนต่าง ๆ ของกฎหมาย จนกระทั่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2558 เป็นต้นมา
กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดให้จัดตั้ง กองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมเท่าเทียมระหว่างเพศ ตามพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ และให้มีการดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการ ภายใต้ชื่อ “คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริม ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินตามที่พระราชบัญญัติฯ กำหนด
กองทุนฯ ได้เริ่มจัดประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ครั้งแรก เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่างๆ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 และกองทุนฯ ได้รับเงินอุดหนุนนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจําปีครั้งแรกเมื่อปีงบประมาณ 2560 เป็นเงิน จำนวน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) ในปัจจุบันมีการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนความ เท่าเทียมระหว่างเพศอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน”