ผ้าซิ่นสะท้อนความหมายของแม่หญิงอุษาคเนย์                                                                                                                        การทอผ้าในสังคมอุษาคเนย์สะท้อนถึงการร่วมมือร่วมใจและวินัยทางสังคมจนนำไปสู่แนวทางในการดำเนินชีวิต ค่านิยม และเศรษฐกิจ การทอผ้าในสังคมอุษาคเนย์เกี่ยวโยงกับชีวิตของผู้คนตั้งแต่เกิดจนหมดลมหายใจการทอผ้าถูกใช้ตั้งแต่สถาบันครอบครัวจนถึงสถาบันศาสนาซึ่งลายผ้าแต่ละลายได้ถูกนำมาใช้ในหลากหลายโอกาสทั้งงานมงคลและงานอวมงคล เช่นงานแต่งงาน งานศพ หรืองานบุญ เมื่อเด็กสาวอายุครบที่จะทอผ้าได้แล้วนั้นแม่ของพวกเธอจะเริ่มฝึกให้พวกเธอขึ้นกี่ทอผ้าเองจนเริ่มทอผ้าผืนแรกออกมาแล้วจะฝึกให้พวกเธอชำนาญเด็กสาวบ้านไหนดูมีฝีมือจะถูกชักชวนให้ทอผ้าสำหรับประเพณีงานสำคัญของชุมชนหากเด็กสาวคนไหนสามารถทอผ้าออกมาได้งดงามจะถูกหมายตาจากเด็กหนุ่มจนถึงชายหนุ่มเพื่อที่จะเข้ามาสู่ขอและหากตกลงหมั้นหมายกันได้แล้วเด็กสาวที่ได้กลายมาเป็นหญิงสาวเมื่อมีลูกสาวก็ต้องนำความรู้เรื่องการทอผ้าเหล่านี้ส่งต่อให้ลูกของพวกเธอจะเห็นได้ว่า   ผ้าทอจากพวกเธอกลายมาเป็นตัววัดคุณค่าในตัวของพวกเธอไปโดยปริยายนอกจากนี้ การทอผ้าถูกกำหนดให้เป็นงานของผู้หญิงเพราะความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีความประณีตมากกว่าผู้ชายและผู้ชายควรที่จะทำงานที่ใช้กำลังเนื่องจากมีร่างกายที่แข็งแรงกว่าผู้หญิงทำให้ผู้ชายบางคนที่อยากอยู่ในพื้นที่ของกี่ทอผ้าจะถูกกีดกันออกไปทำงานตามบทบาททางเพศที่สังคมกำหนดไว้การทอผ้ากลายมาเป็นวิถีปฏิบัติร่วมของคนในสังคมอุษาคเนย์ผ้าที่ทอออกมาแต่ละลายสะท้อนถึงวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่และยังมีนัยยะทางสังคมที่เหมือนและแตกต่างกัน

 ในทุกภาคของประเทศไทยมีการทอผ้าหลากหลายรูปแบบผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่าง ผ้าซิ่นหรือผ้าสิ้น โดยเป็นชื่อผ้าทอของภาคเหนือ ซึ่งลวดลายของผ้าซิ่นจะขึ้นอยู่กับโอกาส
สถานที่ และเวลา การทอผ้านั้นถือเป็นหน้าที่ของลูกสาว โดยแม่จะสั่งสอนให้ลูกสาวทอผ้าตั้งแต่เล็กหากลูกสาวบ้านไหนทอผ้าได้สวยงามจะเป็นที่กล่าวขวัญและเป็นที่ชื่นชมต่อผู้คน   ที่พบเห็นการทอซิ่นจะทอเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน งานบวช หรืองานบุญประเพณี
[1]การทอซิ่นในพระพุทธศาสนาหมายถึง การทำบุญทางอ้อมเนื่องจากการเกิดเป็นผู้หญิงไม่สามารถที่จะบวชพระเหมือนผู้ชายได้ จึงต้องทอผ้าทำเป็นหมอนหรือเครื่องใช้ให้ลูกชายหรือหลานชายตนเองที่กำลังจะบวชใกล้เคียงกับคำว่า เกาะชายผ้าเหลือง นอกจากนี้ การทอผ้าของผู้หญิงยังแสดงออกในนิทานพื้นบ้านของกลุ่มคนไทครั่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าไท โดยมีเรื่องราวของการเลือกคู่ครองของผู้ชายโดยใช้ทักษะการทอผ้าของผู้หญิงเป็นเกณฑ์[2]

 ผ้าของประเทศลาว ชาวลาวมีทักษะในการทอผ้าเป็นเลิศทำให้ปัจจุบันผ้าไหมลาวกลายเป็นสินค้าสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติลาว ตั้งแต่อดีตผู้หญิงชาวลาวจะรับผิดชอบ  ด้านการผลิตเครื่องนุ่งห่มของครอบครัวตั้งแต่การปลูกฝ้ายไปจนถึงการทอและตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าเด็กหญิงชาวลาวจะเริ่มทอผ้าตั้งแต่อายุ 6 ปีการทอผ้าของผู้หญิงลาวจะเป็นตัววัดถึงการแต่งงานในอนาคตหากหญิงใดทอผ้าได้ดีก็จะมีคนมาขอแต่งงาน นอกจากนี้ นิทานและเพลงพื้นบ้านของชาวลาวมีการเล่าถึงการเกี้ยวสาวที่กี่ทอผ้า[3]สอดคล้องกับการที่ผู้ชายจะเลือกคู่ครองจากการทอผ้า หากหนุ่มใดมาพบหญิงในขณะทอผ้าพวกหนุ่มจะชมเชยหญิงและสู่ขอพวกเธอในลำดับต่อมา

 ผ้าของประเทศเวียดนามผ้าไหมมีบทบาทสำคัญในชีวิตทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของเวียดนาม ผ้าไหมของเวียดนามตั้งแต่อดีตจะสะท้อนถึงความหรูหราและความสง่างาม[4]      ผ้าไหมของเวียดนามถูกใช้เฉพาะกษัตริย์หรือชาวม้งเท่านั้น[5]นอกจากนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ในเวียดนาม อย่างชาวไทดำ มีซิ่นแตงโมที่นุ่งกันในชีวิตประจำวันและเมื่อถึงวันสำคัญจะนุ่งซิ่นนางหาญซึ่งแสดงนัยถึงชนชั้น ผ้าซิ่นของชาวไทดำมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อในวัฏจักรชีวิตตั้งแต่เกิดเติบโต และจบสิ้นชีวิต ผ้าซิ่นถือเป็นการแสดงคุณค่าของผู้หญิงไทดำ เพราะการแต่งงานของชาวไทดำในอดีตฝ่ายหญิงต้องแสดงความคารวะและฝากเนื้อฝากตัวด้วยการมอบผ้าที่ตัวเองทอเป็นของกำนัลให้แม่และญาติของสามี[6] 

ผ้าของประเทศอินโดนีเซีย ผ้าอิกัตหรือผ้ามัดหมี่เป็นผ้าซิ่นของอินโดนีเซีย แต่ก็สามารถพบเห็นได้ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยผ้าอิกัตเป็นผ้าที่ต้องสร้างลวดลายก่อนย้อม แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ของช่างทอผ้า[7การทอผ้าอิกัตอาศัยการสืบทอดรุ่นสู่รุ่น เด็กผู้หญิงในครอบครัวช่างทอผ้าจะต้องเรียนรู้การทอผ้าอิกัตการทอผ้าอิกัตจะแสดงถึงการก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ของเด็กผู้หญิง โดยเด็กผู้หญิงต้องทอผ้าให้ชำนาญเพื่อแสดงคุณค่าในตัวเธอ[8]

ผ้าของประเทศกัมพูชา ผ้าโฮล คล้ายกับผ้าอิกัตของอินโดนีเซียเป็นลายทอผ้าแบบดั้งเดิมที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผ้าโฮลของกัมพูชาถือเป็นผ้าที่สวยงามที่สุดในโลกลวดลาย  บนผ้าโฮลมักจะแฝงไปด้วยนิทานพื้นบ้าน ศาสนา และธรรมชาติของกัมพูชาแต่เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในปี 1967-1975 ศิลปะการทอผ้านี้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนปัจจุบันเหลือเพียงช่างทอไม่กี่คนเท่านั้นช่างทอผ้าในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงการทอผ้าจะถูกถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกสาวโดยจะเริ่มทอผ้าตั้งแต่อายุน้อยและจะทอต่อไปจนตาจะบอด[9]

ในปัจจุบัน การทอผ้าไม่ได้จำกัดเพียงผู้หญิงเท่านั้นผู้ชายก็สามารถเข้าร่วมการทอผ้าได้ ตั้งแต่ระดับใช้ในบ้าน จนถึงงานประเพณีสำคัญ พื้นที่ของกี่ทอผ้าจึงกลายมาเป็นพื้นที่ของคน  ในครอบครัวนอกจากนี้ การทอผ้าได้กลายมาเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจ แตกต่างจากสมัยก่อนที่มองว่าการทอผ้าควรจะเก็บไว้ใช้ในครอบครัวเท่านั้นแต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนการค้าขายเริ่มขยายตัวความต้องการผ้าทอที่ทั้งใช้เพื่อนุ่งห่มหรือเพื่อเก็บรักษาทำให้ผ้าทอกลายมาเป็นสินค้าสำคัญของสังคมอุษาคเนย์ แต่การทอผ้าด้วยวิถีดั้งเดิมหรือใช้กี่ทอผ้ากำลังจะหายไปจากสังคมเพราะการเข้ามาของเครื่องจักรที่ทำงานได้รวดเร็วและผลิตได้เยอะกว่าและประกอบกับราคาที่ค่อนข้างถูกถ้าเทียบกับผ้าที่ถักทอด้วยมือช่างเองทำให้การซื้อขายผ้าทอถักมือซบเซาลง ถึงแม้ว่าการทอผ้าในปัจจุบันจะไม่ได้จำกัดเพศในการทอแต่ในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่ของผู้หญิง ซึ่งสถิติพบว่า ในปี2562อุตสาหกรรมสิ่งทอมี  การจ้างงานแรงงานทั่วโลกประมาณ 91 ล้านคน โดย 50 ล้านคนเป็นผู้หญิง[10] และผู้หญิงประมาณ 42 ล้านคนทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอของภูมิภาคเอเชียโดยภูมิภาคเอเชียได้รับการขนานนามว่าเป็นโรงงานเครื่องนุ่งห่มของโลก ซึ่งมีแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอประมาณ75% ของแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วโลก สามารถคิดได้ว่า แต่ผู้หญิงเหล่านี้ยังพบกับช่องว่างทางเพศในด้านต่างๆ เช่น ความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ หรือสิทธิในสถานที่ทำงาน[11] อย่างไรก็ตาม การทอผ้าไม่ว่าจะถูกถักทอด้วยช่างทอผู้หญิงหรือผู้ชายผ้าที่ทอออกมาย่อมสะท้อนถึงความปราณีต ความพยายาม และความตั้งใจของช่างทอ ดังนั้นการทอผ้าจึงไม่ควรกีดกันใครออกไปด้วยบทบาทของเพศที่สังคมกำหนด

 

 ขอขอบคุณแหล่งที่มา

[1] Acrochordus granulatus.  ตามรอยผ้าซิ่นผ้าไหมล้านนา.  สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://pasincom.wordpress.com/about/

[2] วัฒนธรรมผ้าทอกลุ่มไทครั่ง อัตลักษณ์ลวดลายและสีสันสืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2568, ค้นจาก http://article.culture.go.th/index.php/layouts-modules-positions/3-column-layout-3/167-2019-11-22-09-00-06

[3] วรรณฉัตรเทวบุณย์ผ้าทอพื้นเมืองลาว: ศิลปะแห่งชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายสืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2567.

[4] Vietnamplus. (2566).  “Vietnamese cultureand silk are topics of event dedicated to women”.                                                                                                                                                                                สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-culture-and-silk-are-topics-of-event-dedicated-to-women-post250254.vnp

[5] VINPEARL. (2567).  “Vietnamese silk: Anenduring symbol of timeless beauty and grace”สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://vinpearl.com/en/vietnamese-silk-an-enduring-symbol-of-timeless-beauty

[6]กานต์ณรัน สีหมากสุก. (2565).  สุนทรียะในลวดลายผ้าซิ่นนางหาญของไทดำในเขตบ้านนาป่าหนาดตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยสืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2567.

[7] สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลาผ้าไหมมัดหมี่สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://www.finearts.go.th/fad11/view/34868

[8] M. Ihsan Wahab, Elisabeth Berbara, และ Danar Aswim.  “MenggaliMakna Motif Tenun Ikat dalam Hubungan dengan Perilaku Sosial Masyarakat di DesaSikka, Kecamatan Lela, Kabupaten Sikka”.                                   สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2567.

[8] Lina Goldberg.  (2563). “Silk weaving in Cambodia: An age-old tradition struggles tosurvive”.  สืบค้นเมื่อ 19ธันวาคม 2567, ค้นจาก https://www.kiva.org/blog/silk-weaving-in-cambodia-an-age-old-tradition-struggles-to-survive

[9]Fernanda Bárcia de Mattos, Valeria Esquivel, David Kucera, and ShebaTejani.  (2565).  “The state of the apparel and footwearindustry: Employment, automation and their gender dimensions”.                                      สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2568.

[10] Fernanda Bárcia de Mattos,Valeria Esquivel, David Kucera, and Sheba Tejani.  (2565). “The state of the apparel and footwear industry: Employment,automation and their gender dimensions”
สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2568.

[11] World Economic Forum.  (2567). “5 ways to weave gender equality into Asia’s garment supply chains”.                                                                                                                                                                  สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2568, ค้นจาก https://www.weforum.org/stories/2024/04/asia-garment-sector-gender-equality