
“ ผู้ชายต้องเข้มแข็ง” “ผู้ชายต้องชอบสีฟ้า” “ผู้ชายต้องเลี้ยงดูครอบครัว” ทั้งหมดนี้เป็นความเป็นชายที่เป็นพิษที่ถูกปลูกฝังในสังคมมาอย่างยาวนาน ในบริบทของสังคมอุษาคเนย์ที่ทุกประเทศมีวัฒนธรรมและประเพณีที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อบทบาททางเพศและความคาดหวังต่อผู้ชาย ถึงแม้ในปัจจุบันหลายสังคมเริ่มเปิดรับความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นผู้ชายเริ่มหลุดออกจากกรอบความเป็นชายแบบดั้งเดิมมากขึ้นแต่ในอีกหลายสังคมก็ยังคงยึดความเชื่อแบบแผนนี้อยู่
ความหมายของ “ความเป็นชาย” คำว่า “ผู้ชาย” และ “ความเป็นชาย” มีความแตกต่างกันชัดเจน คือ “ผู้ชาย” เป็นลักษณะทางกายภาพ โดยตัดสินจากอวัยวะเพศชาย และคำว่า “ความเป็นชาย” เป็นการแสดงออกของบุคคล การแสดงออกนี้เป็นสิ่งที่สังคมมองว่า นี่แหละผู้ชายอย่างที่ควรเป็น ในการปลูกฝังความเป็นชายนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่สถาบันครอบครัว ซึ่งครอบครัวจะทำหน้าที่ปลูกฝังและคาดหวังให้เด็กแสดงออกตามเพศกำเนิดของตัวเอง เด็กผู้ชายจะต้องเล่นกีฬาเด็กผู้หญิงจะต้องเล่นตุ๊กตาทั้งหมดเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมและนิสัยหากเด็กคนไหนปฏิบัติผิดไปจากเพศกำเนิดของตัวเองก็มักจะถูกลงโทษ[1] อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีครอบครัวส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามความเชื่อนี้แล้ว เนื่องจากกระตระหนักรู้เรื่องบทบาททางเพศเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่มองว่า การกำหนดเพศแบบเดิมไม่ควรถูกนำมาใช้ในสังคมปัจจุบันอีกแล้ว แต่ก็ยังมีบางครอบครัวที่ยังคงมีความเชื่อเดิมนี้อยู่
ต่อมาเมื่อเด็ก ๆ เข้าสู่สถาบันการศึกษา ความเป็นชายและความเป็นหญิงเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยสื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ ยังคงผลิตซ้ำบทบาททางเพศแบบดั้งเดิมการแบ่งหน้าที่ตามเพศและการเหมารวมทางเพศ เช่น การแยกหน้าที่ของผู้หญิงผู้ชาย หรือการแยกอาชีพของผู้หญิงผู้ชาย ทั้งหมดนี้ยังก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศอีกด้วย รวมไปถึงสื่อมวลชน ศาสนา กฎหมาย การเมือง ประเพณี และวัฒนธรรมที่เป็นปัจจัยในการผลิตซ้ำและสร้างภาพจำของบทบาททางเพศแบบดั้งเดิม ทำให้หลายคนอยู่กับความเป็นเพศที่สังคมกำหนดโดยไม่ได้มองว่ามันส่งผลกระทบหลายอย่างในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม เช่น โอกาสในการทำงาน โอกาสในการเรียน และการเข้าถึงสิทธิพิเศษต่าง ๆ
ภาวะความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) เป็นแนวคิดหนึ่งที่สื่อถึงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับความเป็นชายเหมารวมแบบดั้งเดิม[2] โดย Journal of School of Psychology ได้นิยามความหมายว่าเป็นรูปแบบความคิดของกลุ่มคนในสังคมที่มีความถดถอยเกี่ยวกับความเป็นชายที่นำไปสู่การกดขี่ข่มเหง การลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเพศอื่น และพฤติกรรมรุนแรงที่ผู้ชายกระทำออกมา[3] โดยคำว่า Toxic Masculinity เริ่มมาจาก Mythopoetic Men’s Movement ในช่วงยุค 1980 ของสหรัฐอเมริกา โดยการเคลื่อนไหวนี้มองว่าความเป็นชายที่ชูเรื่องความแข็งแกร่ง อดทน และดุดันเหมือนทหาร กำลังกัดกินความเป็นชายที่ลึกซึ้ง หรือ Deep Masculinity ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นชายที่เหมือนกับผู้ชายในภาพวาดกรีกโบราณ โดยแสดงถึงความลุ่มลึกทางอารมณ์ โดยการเคลื่อนไหวนี้เป็นการเคลื่อนไหวที่มาจากเสียงของผู้ชายด้วยกันเอง[4] ว่าความเป็นชายแบบเดิมกำลังทำร้ายผู้ชายอีกกลุ่มหนึ่งเช่นกัน ความเป็นชายที่เป็นพิษนี้ส่งผลเสียต่อทุกคน ไม่เว้นแต่ผู้ชายด้วยกันเอง โดยจะเห็นได้จากมาตรฐานความเป็นชายที่หลายคนถูกปลูกฝังว่า “ลูกผู้ชายไม่ร้องไห้” “ผู้ชายต้องเข้มแข็ง” “ผู้ชายต้องมีเหตุผล” “เป็นผู้ชายต้องห้ามแพ้” กลายเป็นว่าสิ่งที่สังคมปลูกฝังมากำลังกดทับผู้ชาย รวมไปถึงผู้หญิงและเพศหลากหลาย ทั้งปัญหาความรุนแรง ปัญหาสุขภาพจิต และการเลือกปฏิบัติทางเพศ โดยเราจะเจาะไปที่สังคมอุษาคเนย์ที่หลายประเทศยังเผชิญกับความท้าทายจากความเป็นชายที่เป็นพิษในปัจจุบัน
อินโดนีเซีย การออกคำเตือนถึง Ivan Gunawan ดีไซเนอร์ชื่อดังของอินโดนีเซีย เกี่ยวกับการแต่งกายของเขาที่คล้ายกับผู้หญิง เขาได้รับคำเตือนจาก KPI หรือคณะกรรมการการกระจายเสียงแห่งอินโดนีเซีย โดยอ้างว่าเป็นการละเมิดจริยธรรมและความเหมาะสม ซึ่งการที่ผู้ชายแสดงตนเป็นผู้หญิงอาจมีอิทธิพลเชิงลบต่อเด็กได้[5]
สิงคโปร์ ตามรายงานของ Samaritans of Singapore (SOS) ในปี 2566 ระบุว่า แนวโน้มในการฆ่าตัวตายของผู้ชายมีมากกว่าผู้หญิง โดยผู้ชายคิดเป็น 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย สาเหตุมาจากความคาดหวังของสังคมและการตีตราทางเพศ โดยผู้ชายสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์ในสื่อ CNA ว่า “เข้มแข็งและเงียบขรึม” เป็นแบบแผนเฉพาะที่พวกเขาต้องเผชิญมาตลอดชีวิต[6]
ประเทศไทย มีการเผยแพร่โพสต์บน Pantip โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการที่ตัวเองรู้สึกโง่เพราะมีภรรยาที่ฉลาด อยากจะขอให้ภรรยาที่ฉลาดแกล้งโง่หน่อยได้ไหม โพสต์ดังกล่าวกลายเป็นประเด็นถกเถียง โดยที่เจ้าของโพสต์เชื่อว่ายังมีผู้ชายอีกหลายคนที่คิดแบบเดียวกัน[7] สะท้อนให้เห็นว่าผู้ชายได้รับความกดดันจากการที่ตนเองรู้สึกด้อยกว่าผู้หญิง
เวียดนาม การศึกษาของ ISDS ที่สำรวจผู้ชายเวียดนามจำนวน 2,567 คน ที่อายุระหว่าง 18 – 64 ปี พบว่า การเป็นผู้ชายที่แท้จริงในเวียดนามยังให้ความสำคัญกับความเชื่อแบบเดิม คือ ผู้ชายต้องให้ความสำคัญกับการทำงาน สามารถเลี้ยงดูภรรยาและลูกได้ โดยผู้ชายเกือบทั้งหมดหรือประมาณ 97% คิดว่า ตนเองต้องเป็นไหล่ให้ผู้หญิงได้ร้องไห้ และ 95% เห็นด้วยว่า การทำงานของผู้ชายคือการช่วยเหลือผู้หญิง[8]
ลาว ในปี 2564 พบว่า ผู้หญิงร้อยละ 30 ที่เคยมีความสัมพันธ์ เคยประสบกับความรุนแรงทางร่างกาย เพศ และจิตใจจากคู่ครองชายในช่วงชีวิตของตน จากการสัมภาษณ์ในรายงานของ CARE ระบุว่า “ผู้คนไม่รู้ว่าการกระทำของพวกเขาเป็นความรุนแรง” เนื่องจากความเชื่อที่ว่า ผู้ชายต้องคุมทุกอย่างให้ได้ ต้องเป็นผู้นำครอบครัว ทำให้บางครั้งการใช้อำนาจที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดความรุนแรงได้ ทั้งทางร่างกาย ทางเพศ และทางจิตใจ[9]
จะเห็นได้ว่า ความเป็นชายในสังคมอุษาคเนย์ได้ส่งผลต่อทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ความเป็นชายสร้างพื้นที่ของผู้ชายเอาไว้ ใครที่อยู่นอกเหนือจากพื้นที่ตรงนี้จะถูกกีดกันออกไป สำหรับผู้ชายคนไหนที่ไม่ได้ตรงตามกรอบพื้นที่นั้นจะถูกทำให้แปลกแยกจากสังคม จนเกิดความกังวล ไม่ชอบตนเอง หรือไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้เพิ่มมากขึ้นในผู้ชาย
สำหรับประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การที่ผู้ชายรู้สึกกังวลใจเมื่อตนเองถูกสั่นคลอนความเป็นชาย เห็นได้จากกรณีตัวอย่างประเทศไทย ที่ผู้ชายออกมาตั้งโพสต์เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากสังคมว่าตัวเองรู้สึกโง่ เมื่อเทียบกับภรรยาที่ฉลาดมากกว่า โดยมีหลายความคิดเห็นแสดงออกว่าเจ้าของโพสต์มีอีโก้สูง แต่อีกมุมความคิดเห็นหนึ่งบอกว่า “โดนยึดอำนาจไปแล้ว ก็ต้องทำตามภรรยาไปนั่นแหละ”[10] จากประโยคนี้แสดงให้เห็นว่า ในความสัมพันธ์ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่าเสมอ ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ชาย ผู้ชายในบริบทของครอบครัวมักถูกมองให้เป็นผู้นำครอบครัว อำนาจจึงกลายมาเป็นของผู้ชายไปโดยปกติ แต่ด้วยความเป็นชายที่คอยกดดันพวกเขามาตลอดชีวิต กลับกลายมาเป็นภาระอันหนักอึ้งที่พวกเขาต้องเผชิญ
ความเป็นชายที่เป็นพิษเป็นปัญหาทางสังคมที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในสังคมอุษาคเนย์ ทั้งในแง่ของปัญหาความรุนแรง ปัญหาสุขภาพจิต และการเลือกปฏิบัติทางเพศ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้หากมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมและละทิ้งความเชื่อแบบเดิม ซึ่งการลดอิทธิพลของแนวคิดนี้ไม่เพียงช่วยให้ผู้ชายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังนำไปสู่สังคมที่มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้นสำหรับทุกเพศ
ขอขอบคุณแหล่งที่มา
[1] Sanook. (2566). ““ความเป็นชาย” ที่ผู้ชายแบกรับและกดทับทุกคน”.
สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2568,ค้นจาก https://www.sanook.com/news/7892766/ [2]ศิรอักษร จอมใบหยก. (2566). “‘Toxic Masculinity’ เฟมินิสต์ไม่ได้คิดคำนี้ขึ้นมาด่าชายแท้เพราะเพศชายก็ถูกปิตาฯ
กดทับได้เช่นกัน”. สืบค้นเมื่อ18 กุมภาพันธ์ 2568, ค้นจาก https://themomentum.co/gender-toxic-masculinity-hurts-men-too/ [3] นิลุบล สุขวณิช. (2565). “รับมือกับ Toxic
Masculinity แนวคิดที่ไม่อนุญาตให้ผู้ชายเจ็บได้ร้องห็เป็น”. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2568, ค้นจาก https://www.istrong.co/single-post/toxic-masculinity?srsltid=AfmBOoryWPce172IqSPOwfNuwwRTa2YortVErAgXcZ4DjuI7tBg_29cq [4] Carol Harrington. (2563). “What is “Toxic Masculinity”and Why Does it Matter?”. สืบค้นเมื่อ18 กุมภาพันธ์ 2568, ค้นจาก https://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/1097184X20943254?download=true&journalCode=jmma#:~:text=Toxic%20masculinity%20emerged%20within%20the,his%20father’s%20militarized%2C%20authoritarian%20masculin[5] AbdullahFaqih. (2567). “Indonesia’s problem of ‘proper’ masculinity”. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2568, ค้นจาก https://www.newmandala.org/indonesias-problem-of-proper-masculinity/ [6]Ang Hwee Min. (2566). “IN FOCUS: ‘Be a man’, do the right thing?Not so simple, say some in Singapore”. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2568, ค้นจาก https://www.channelnewsasia.com/singapore/men-lost-identity-crisis-masculinity-male-gendernormsroles3824126
[7] Emilia Brugnano. (2564). “Rethinking masculinity: The relentlessstruggle for the masculine ideal”. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2568, ค้นจาก https://prachataienglish.com/node/9413 [8]Linh Do. (2563). “Vietnamese men remain mired in macho norms”. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2568, ค้นจาก https://e.vnexpress.net/news/life/trend/vietnamese-men-remain-mired-in-macho-norms-4173454.html
[9] Sharon Smee. (2565). “Male Perceptions of Gender Based Violence”. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2568. [10] Pantip. (2564). “รู้สึกว่าตัวเองโง่เพราะมีเมียฉลาดอยากให้เมียที่ฉลาดแกล้งโง่บ้างได้ไหมครับ”. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2568, ค้นจาก https://pantip.com/topic/407290